นักท่องเที่ยวจากเอเชียแปซิฟิกได้รับแรงกระตุ้นแตกต่างกันไปเมื่อวางแผนเที่ยวและออกเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทริปเดินเขา ทริปทำสปาเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ หรือทริปดื่มด่ำวัฒนธรรมก็ตาม
เพื่อตอบสนองความต้องการจำนวนมหาศาลและชนะใจลูกค้า แบรนด์ท่องเที่ยวต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าอะไรที่เป็นแรงกระตุ้นให้นักเดินทางในภูมิภาคนี้อยากไปเที่ยว วางแผน และทำการจองต่างๆ
ผลการสำรวจผู้คนในภูมิภาคนี้จำนวน 7,000 คนครั้งล่าสุดโดย Google และ Kantar แสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแรงจูงใจและปัจจัยสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก
ต่อไปนี้คือข้อมูลเชิงลึกสำคัญ 2 ข้อและกลยุทธ์การตลาดที่จะช่วยคุณเพิ่มยอดขายและความชื่นชอบแบรนด์ (Brand Preference) ในหมู่นักเดินทางจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
1. นักท่องเที่ยวมีแรงจูงใจมากมายหลากหลายแนว และมองหาประสบการณ์ที่ตรงกับใจ
นักเดินทางจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแรงจูงใจที่หลากหลายในการออกเดินทางท่องเที่ยว แคมเปญการตลาดของแบรนด์จึงต้องสื่อสารให้ตรงกับความต้องการอันมากมายของผู้คนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็วพร้อมเนื้อหาที่เกี่ยวข้องสำหรับพวกเขา
สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะแรงจูงใจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน โดย 68% ของนักเดินทางยอมรับว่าความต้องการในการท่องเที่ยวของตนแตกต่างจากเพื่อน1
นอกจากนี้แรงจูงใจยังต่างกันไปในแต่ละทริป โดย 64% กล่าวว่าความชอบสำหรับทริปที่ไปคนเดียวกับทริปครอบครัวนั้นก็ยังไม่เหมือนกัน2 และแรงจูงใจหลักยังมีแนวโน้มว่าจะต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าพวกเขามาจากที่ไหน

ในแต่ละทริป นักเดินทางมีแรงจูงใจโดยเฉลี่ย 4.7 ข้อที่อยากจะทำระหว่างทริป ซึ่งหมายความว่าแรงจูงใจอาจไม่เหมือนกันเลยในแต่ละวัน3
นอกจากแรงจูงใจมากมายเหล่านี้แล้ว นักเดินทางจากเอเชียแปซิฟิกยังชอบสัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย เมื่อขอให้เล่าถึงทริปท่องเที่ยวครั้งล่าสุด พวกเขาเลือกประเภททริป 3.8 ประเภทโดยเฉลี่ย เช่น ทริปกิน ทริปธรรมชาติ หรือทริปท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม4
การได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายสำคัญสำหรับพวกเขามากกว่าการไปท่องเที่ยวเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง โดย 46% ยินดีเลือกสถานที่คล้ายคลึงกัน5 ซึ่งมีราคาย่อมเยากว่าและนักท่องเที่ยวน้อยกว่า แต่ให้ประสบการณ์แบบเดียวกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง
คำแนะนำสำหรับแบรนด์: ใช้ความสามารถของ AI ในการตลาดเพื่อให้ข้อมูลท่องเที่ยวที่มีความเกี่ยวข้องสูงสำหรับผู้คนในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งตอบสนองต่อแรงจูงใจจำนวนมากของนักเดินทางจากเอเชียแปซิฟิก
ตัวอย่างเช่น ใช้ AI ในการสร้างและแสดงเนื้อหาดิจิทัลเพื่อนำเสนอสิ่งที่นักเดินทางต้องการ ซึ่งจริงๆ แล้วนักเดินทางจำนวนมากใช้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ทำงานด้วย AI กันอยู่แล้ว โดย 61% ใช้เครื่องมือ AI ระหว่างการวางแผนหรือการจอง6

แบรนด์ Alaska Airlines และ Priceline ก้าวทันเหล่านักเดินทางผู้มีประสบการณ์ด้วยการใช้ AI ของ Google โดย Alaska Airlines สามารถให้แผนการเดินทางที่ปรับเปลี่ยนเฉพาะบุคคล ส่วน Priceline ก็สามารถช่วยให้นักเดินทางค้นพบดีลที่ดีที่สุดได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้คุณสามารถใช้ Google Analytics 4 ที่ทำงานด้วย AI ของ Google เพื่อค้นหาลูกค้าที่มีความตั้งใจสูง และใช้แคมเปญโฆษณาที่ทำงานด้วยระบบ AI อย่าง Performance Max เพื่อแสดงข้อเสนอที่เกี่ยวข้องที่สุดกับลูกค้าหลากหลายกลุ่มในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
2. นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าและความน่าเชื่อถือมากกว่าราคาที่ถูกที่สุด
อีกหนึ่งข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับนักเดินทางจากเอเชียแปซิฟิกคือพวกเขามีแนวโน้มที่จะเลือกแบรนด์ที่คุ้มค่าและน่าเชื่อถือมากกว่าแบรนด์ที่แค่ให้ข้อเสนอราคาถูกที่สุด
อันที่จริงปัจจัยสำคัญที่ผู้ตอบแบบสำรวจใช้ในการตัดสินใจเลือกแบรนด์หรือสายการบินมีอยู่ 2 สิ่ง ได้แก่ ความคุ้มค่าเงินและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ ส่วนราคาจะใกล้เคียงกับผู้ให้บริการรายอื่นหรือไม่นั้นมีความสำคัญน้อยลงมาสำหรับพวกเขา7

คำจำกัดความของคำว่า “คุ้มค่า” สำหรับนักเดินทางมีตั้งแต่โรงแรมที่สะอาดสะอ้านและตั้งอยู่ใจกลางเมือง ไปจนถึงสายการบินที่มีเที่ยวบินตรง ที่นั่งอัปเกรด และเงื่อนไขการจองที่ยืดหยุ่น นอกจากนี้ผู้ให้บริการกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มีความยืดหยุ่นด้านเวลาและให้ประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครก็ถือว่ามีความคุ้มค่าสำหรับพวกเขาเช่นกัน
ความคุ้มค่ายังอาจหมายถึงการได้ดีลดีๆ สำหรับข้อเสนอสุดหรู เช่น พวกเขาเต็มใจจ่ายหนักให้กับประสบการณ์ 1 หรือ 2 อย่าง ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งชั้นธุรกิจหรือการพักโรงแรมสุดหรูสักคืน พฤติกรรมนี้พบได้มากเป็นพิเศษในหมู่นักท่องเที่ยวจากอินเดีย จีน และไทย โดย 60% ของนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้ยินดีจ่ายให้กับ “ความหรูหราในราคาที่เอื้อมถึง”8
คำแนะนำสำหรับแบรนด์: สร้างความไว้วางใจและแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของข้อเสนอโดยดึงดูดนักเดินทางจากเอเชียแปซิฟิกบนแพลตฟอร์มที่พวกเขาเชื่อถือ
สำหรับนักท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ YouTube คือแพลตฟอร์มวิดีโอที่พวกเขาชื่นชอบเป็นอันดับ 1 สำหรับการค้นหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือ9

นอกจากนี้ YouTube ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อนักเดินทางในทุกขั้นตอนของเส้นทางการซื้อ (Customer Journey) รวมถึงเป็น Touchpoint อันดับ 1 ที่ใช้หาแรงบันดาลใจในการท่องเที่ยวและเป็นเครื่องมือหลักในการค้นหาข้อมูลควบคู่ไปกับบริษัทท่องเที่ยว, Google Search และเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ10 YouTube จึงสร้างการรับรู้ (Awareness) ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ในท้ายที่สุด
ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่า 84% ของแคมเปญการตลาดบน YouTube เพิ่มยอดขายออฟไลน์ได้อย่างมาก11 แบรนด์ท่องเที่ยวจึงน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเช่นกันหากลงทุนกับการตลาดผ่านวิดีโอสำหรับตลอดทั้ง Funnel ไม่ใช่เพียง Lower Funnel เท่านั้น
Agoda สร้าง Conversion ด้วยเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องสูงและแคมเปญที่ทำงานด้วย AI
Agoda ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ต้องการเพิ่ม Conversion และการติดตั้งแอป จึงได้สร้างแคมเปญโฆษณาแอปและวิดีโอซึ่งทำงานด้วย AI ของ Google เพื่อดึงดูดลูกค้าในวงกว้างถึง 40 จุดหมายปลายทาง
Agoda ใช้ AI ของ Google สร้างชิ้นงานครีเอทีฟโฆษณามากกว่า 1,000 ชิ้นใน 7 ภาษา ซึ่งทำให้สามารถแสดงเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องสูงในวงกว้างและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของนักเดินทาง เช่น กลุ่มนักช็อปที่ชอบความหรูหราจะเห็นโฆษณาพร้อมรูปห้างสรรพสินค้าของ Marina Bay Sands ในสิงคโปร์ ในขณะที่ผู้เดินทางเป็นครอบครัวจะเห็นโฆษณาที่มีภาพ Universal Studios
จากนั้น Agoda จึงใช้ Video Action Campaign เพื่อเข้าถึง ดึงดูด และทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องสร้าง Conversion ด้วยโฆษณาวิดีโอ โดยกระตุ้นให้พวกเขาดำเนินการต่างๆ เช่น คลิกที่ลิงก์เพื่อไปยังแอปและเว็บไซต์ของ Agoda
นักเดินทางจากเอเชียแปซิฟิกพร้อมที่จะจ่ายให้กับแบรนด์ที่ทำให้พวกเขาไว้วางใจ มีข้อเสนอที่คุ้มค่า และตอบสนองต่อแรงจูงใจอันมากมายที่ทำให้อยากไปท่องเที่ยว คุณสามารถเปลี่ยนพวกเขาให้เป็นลูกค้าได้โดยการแสดงตัวบนแพลตฟอร์มที่พวกเขาเชื่อถือ และใช้แคมเปญโฆษณาที่ทำงานด้วยระบบ AI เพื่อดึงดูดผู้คนในวงกว้างอย่างรวดเร็วพร้อมเนื้อหาที่มีความเกี่ยวข้องสูง
สมัครรับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้บริโภค แรงบันดาลใจ และกลยุทธ์ต่างๆ ทางอีเมลจาก Think with Google